เตรียมความพร้อม ก่อนสั่งเสาเข็มง่าย ๆ ตามนี้นะครับ

1. สำรวจตำแหน่งตอกเสาเข็ม อยู่ติดกับอาคารข้างเคียงหรือไม่ ถ้าอยู่ใกล้ต้องได้รับความยินยอมให้ตอกเสาเข็มจากอาคารข้างเคียง 

“หากตำแหน่งของหน่วยงานตอกเสาเข็ม มีอาคารข้างเคียง อาจส่งผลให้เกิดปัญหาการร้องเรียนเรื่องการสั่นสะเทือน หรือเสียงดัง ทั้งขณะตอกเสาเข็ม หรือขนส่งเสาเข็ม”

 

2. สำรวจเส้นทางขนส่งความกว้างถนนควรไม่น้อยกว่า 6.00 เมตร หรือ รถ 10 ล้อสามารถวิ่งผ่านได้ และจะต้องไม่มีสิ่งกีดขวางขณะขนส่งเสาเข็ม เช่น ถนนส่วนบุคคล, ข้อห้ามในการบรรทุกน้ำหนัก, รถจอดกีดขวาง, การจัดตลาดนัด , ช่วงถนนเลี้ยวหักศอก, สายไฟฟ้า/สายเคเบิ้ลห้อยต่ำผ่านถนน เป็นต้น

“เนื่องจากรถส่งเสาเข็มมีความจำเป็นต้องพาดเสาเข็มขึ้นหลังคาเก๋งรถบรรทุก ทำให้ความสูงของสายเคเบิ้ลต่างๆ ควรไม่น้อยกว่า 4.50 เมตร เพื่อความสะดวกในการขนส่ง หากมีการถมที่เพิ่ม อย่าลืมบวกรวมความสูงของดินที่ถมเข้าไปด้วยนะครับ”

 

3. พื้นที่ตอกเสาเข็มควรเรียบแข็ง สามารถรองรับน้ำหนักของรถขนส่งเสาเข็ม และปั้นจั่น ได้  และไม่มีสิ่งกีดขวางการทำงานของปั้นจั่น และสามารถกองเสาเข็ม เช่น ท่อประปา, สายไฟฟ้า, เศษขยะ, เศษปูน ทั้งบนดิน และใต้ดิน

“ในระหว่างการถมดิน ท่านเจ้าของอย่าลืมแวะดูหน้างาน ว่าดินที่สั่งมาถมนั้น มีสิ่งแปลกปลอมเพิ่มมาด้วยหรือเปล่านะครับ หลายครั้งมีการปนคอนกรีต เศษปูน หรือขยะขนาดใหญ่แถมมาด้วย ซึ่งจะกลายเป็นอุปสรรคใต้ดิน เวลาตอกเสาเข็มในอนาคตได้นะครับ”

 

4. ควรจัดเตรียมสถานที่ปลูกสร้างที่พักคนงาน, น้ำประปา, ขนาดมิเตอร์ไฟฟ้าเชื่อมต่อเสาเข็มที่เหมาะสม (อย่างน้อย 15 แอมป์ขึ้นไป) และห้องน้ำชั่วคราว

“บ้านพักอาศัยบางหลังขอไฟฟ้าน้อยกว่า 15 แอมป์ ทำให้เวลาทำการต่อไฟมาเข้าผังตอก เกิดปัญหาไฟอ่อนเกิน ส่งผลให้การเชื่อมต่อเสาเข็มทำได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ในกรณีนี้ ท่านเจ้าของบ้านควรเลือกใช้เครื่องปั่นไฟแทน เพื่อให้การจ่ายไฟ เป็นไปได้อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ การเชื่อมต่อเสาเข็มก็มีความแน่นหนามากขึ้นนะครับ”

 

5. ทำรั้ว,แผงตาข่าย ป้องกันฝุ่นและสิ่งของตกหล่นกระเด็นไปพื้นที่ข้างเคียง

 

เขียนโดย
คุณ นริศ บุญญาวินิจ
(วิศวกรประจำ บริษัท เพชรธานีคอนกรีต จำกัด)